18 - 21 มิถุนายน 2568

จูนแนวคิดใหม่ ผลักดันแม่พิมพ์ไทยสู่อนาคต

 

การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญของอุตสาหกรรมโลก ตลอดจนการที่รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุนสิบอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแม่พิมพ์ คุณบุญเลิศ ชดช้อย นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจึงให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสของผู้ผลิตในวงการแม่พิมพ์ไว้อย่างน่าสนใจ

 

“ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ต้องใช้วัสดุประสิทธิภาพสูง หรืออุตสาหกรรมการแพทย์ที่กำลังเติบโตก็ล้วนต้องใช้แม่พิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่พิมพ์แบบอินเจ็กชั่นรับเบอร์ เพราะยางถูกนำมาใช้มากขึ้นในแวดวงการแพทย์หลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะรีบปรับตัวเพื่อเติบโตไปพร้อมกับกระแสนี้”

 

การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ผลิตเป็นเรื่องสำคัญ

 

“การผลิตสินค้าด้วยยางนั้น ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้ แต่ต้องเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของยาง เช่นเปอร์เซ็นต์การหดตัว ฮอตรันเนอร์ หรือเกตเวย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่ผู้ผลิตต่างประเทศคุ้นเคยแต่ใหม่สำหรับผู้ผลิตไทย จึงต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักอุตสาหกรรมที่อาจไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มาก่อน เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจในสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อุตสาหกรรมเดิมของตนถดถอย จะได้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ซึ่งกำลังเติบโตและมีอนาคตได้ทันท่วงที”

การเพิ่มมูลค่าแม่พิมพ์คือคำตอบ

 

“การเพิ่มมูลค่าของแม่พิมพ์ก็คือการเปลี่ยนมาผลิตแม่พิมพ์ที่มีความละเอียดสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มราคาและความเป็นที่ต้องการในตลาด ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องปรับวิธีคิดและเสริมองค์ความรู้ให้ทันสมัย ปัจจุบันนี้สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยเป็นสมาชิกในอนุกรรมการสภาการศึกษา เพื่อช่วยวางแนวทางอบรมให้ผู้ที่อยู่นอกอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ได้สอบเทียบคุณวุฒิในการสมัครงาน ซึ่งจะวัด 8 ระดับอิงกับมาตรฐานของอาเซียน รวมถึงได้ประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และมหาวิทยาลัยเพื่อจัดอบรมความเชี่ยวชาญให้อาจารย์จาก 18 มหาวิทยาลัย ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงครามและสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อนักศึกษา และผลิตบุคลากรให้ทันกับวิวัฒนาการของแม่พิมพ์สมัยใหม่ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของลูกค้า และกระแสปัจจุบันเท่านั้นจึงจะเติบโตต่อไปได้”

งานแสดงสินค้าคือเวทีชมเทคโนโลยีของจริง

 

“อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในปัจจุบันต่างจากสิบปีที่แล้ว เพราะเปลี่ยนจากการใช้ความรู้และเชี่ยวชาญของคนมาเป็นเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ ดังนั้นผู้ผลิตต้องหาว่าซอฟต์แวร์ไหนที่ดีและสามารถนำมาใช้ส่งเสริมธุรกิจ งานอินเตอร์โมลด์ ไทยแลนด์จึงนับว่าเป็นงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพราะจะมีการจัดแสดงเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ให้ได้ชมของจริง การระบาดของโควิดทำให้นักอุตสาหกรรมไม่สามารถไปชมงานในต่างประเทศได้ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาชมงานนี้ เพราะจะได้เห็นทางเลือกจากเทคโนโลยีที่แอดวานซ์ขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีการสัมมนาเกี่ยวกับแม่พิมพ์อินเจ๊กชั่นรับเบอร์ที่สมาคมฯ ร่วมจัดด้วย”